ทำความรู้จักเคอร์ลิง (Curling) กีฬาบนลานน้ำแข็งฤดูหนาว 

ทำความรู้จักเคอร์ลิง (Curling) กีฬาบนลานน้ำแข็งฤดูหนาว 

 

เคอร์ลิง (Curling) คือกีฬาประเภททีมที่เล่นบนลานน้ำแข็ง สามารถหาชมได้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว และถือว่าเป็นกีฬาที่สร้างความสนุกสนานของประเทศเมืองหนาวได้เป็นอย่างดี กีฬาประเภทนี้จะเน้นการประสานงานกับเพื่อนร่วมทีมในการวางแผนกีดกันคู่ต่อสู้ ทำให้ได้รับการเปรียบเปรยว่าคือการเล่นหมากรุกบนน้ำแข็ง โดยมีประวัติความเป็นมาและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

curling

เรื่องราวน่ารู้ของประวัติศาสตร์เคอร์ลิง

หากจะพูดถึงประวัติเคอร์ลิง คงต้องย้อนกลับไปในช่วงปี ค.ศ.1511  ที่เริ่มมีการเล่นกีฬาชนิดนี้ในบ่อน้ำหรือทะเลสาบที่กลายเป็นลานน้ำแข็งจากอุณหภูมิที่ต่ำลงในฤดูหนาวในประเทศสกอตแลนด์ โดยหลักฐานที่พบมีอุปกรณ์การเล่นนั่นคือก้อนหินแกรนิตกับอุปกรณ์ทำด้วยไม้สลักปีที่สร้างระบุปี ค.ศ. 1511 ในพื้นที่ของเมืองเพิร์ธและสเตอร์ลิง กระทั่งราวๆ ปี ค.ศ. 1541 ก็ได้มีการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับแข่งขันเคอร์ลิงระหว่างบาทหลวงที่โบสถ์แห่งหนึ่งกับญาติของบาทหลวงที่บันทึกโดยทนายความชาวสกอตแลนด์ รวมทั้งในปี ค.ศ. 1860 ก็ปรากฏว่ามีภาพวาดการเล่นเคอร์ลิงที่ปราสาทแฮริงตันในประเทศสกอตแลนด์ด้วย 

จากนั้นการเล่นเคอร์ลิง ก็ถูกนำไปเผยแพร่ยังประเทศต่าง ๆ ผ่านเส้นทางการค้าและการอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวสกอตแลนด์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศในเมืองหนาว เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 19 กีฬาชนิดนี้ก็เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในยุโรป และอเมริกาใต้ในบราซิล ขณะที่ในเอเชียประเทศญี่ปุ่นกับเกาหลีก็ดูเหมือนจะนิยมการเล่นกีฬาชนิดนี้กันมากในฤดูหนาว

ในปี ค.ศ 1924 เคอร์ลิง ได้รับการบรรจุเป็นกีฬาที่แข่งขันในโอลิมปิกฤดูหนาวซึ่งจัดขึ้นที่เมืองชาโมนิคซ์ประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะถูกยกเลิกไปแต่ก็ได้มีความพยายามนำกีฬาชนิดนี้กลับมาบรรจุเป็นกีฬาสาธิตของการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวอีกหลายครั้ง และนำกลับมาแข่งขันชิงเหรียญทองอย่างเป็นทางการอีกครั้งที่โอลิมปิกฤดูหนาวเมืองนางาโนะ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1998 จนถึงปัจจุบัน โดยจัดการแข่งขัน 3 ประเภท ประกอบด้วยทีมชาย, ทีมหญิง และทีมผสม

curling1

กติกาเคอร์ลิง เริ่มเกมผู้เล่นคนแรกที่เรียกว่า Lead ของแต่ละทีมจะต้องผลักก้อนหินสโตนออกจากจุดเริ่มต้นให้อยู่ในลักษณะหมุนอย่างช้าๆ และไถลไปบนลานน้ำแข็งเพื่อจะได้เข้าใกล้เป้าหมายที่เรียกว่า โฮม (Home) ซึ่งระหว่างที่สโตนไถลไปก็จะมีผู้เล่นอีก 2 คนในทีมที่เรียกว่า Second กับ Third ใช้ Curling broom มาคอยช่วยประคองและปรับเส้นทางการไถลด้วยการถูน้ำแข็งบริเวณรอบๆ สโตน โดยแต่ละทีมจะมาสลับกันผลักก้อนหินสโตน 8-10 ก้อน ให้เข้าใกล้โฮมและในขณะเดียวกันก็ต้องกระทบสโตนของฝ่ายตรงข้ามให้กระเด็นออกห่างโฮมในหลักการคล้ายกับกีฬาเปตอง ซึ่งผู้เล่นอีกคนหนึ่งที่เรียกว่า Skip จะอยู่บริเวณโฮมคอยทำหน้าที่ชี้เป้าหมาย และใช้ Curling broom ปรับทิศทางความเร็วของสโตนฝ่ายตัวเองหรือคอยกีดขวางฝั่งคู่แข่งเมื่อถูกกระทบ 

และสำหรับวิธีการนับคะแนนในการแข่งขันกีฬาเคอร์ลิง โดยภาพรวมก็จะคล้ายๆ กับเปตองนั่นก็คือจะนับคะแนนจากจำนวนสโตนของทีมที่อยู่ใกล้เป้าหมายหรือจุดกึ่งกลางของวงกลมรวมแล้วมีมากกว่าของคู่แข่ง ตัวอย่างเช่น ถ้าตำแหน่งของสโตนที่วัดระยะห่างจากโฮม เรียงลำดับตามความใกล้ไกลคือ 1 1 2 2 2 1ทีม 1 ก็จะได้ 2 คะแนน ส่วนทีม 2 ไม่มีคะแนน อีกกรณีหนึ่ง หากสโตนลูกใดก็ตามหลุดออกจากวงกลมใหญ่ของโฮมก็จะไม่ได้นับแต้มด้วยและถ้าสโตนทั้งหมดไม่อยู่ในวงกลมของเขตโฮมเลยจะถือว่าเกมนั้นเสมอกัน 0-0 ซึ่งการแข่งขันจะเล่นกันทั้งหมดจำนวน 10 เกม และรวมคะแนนจากทุกเกม ทีมใดได้คะแนนรวมมากกว่าก็จะเป็นผู้ชนะ แต่ถ้าเสมอกันจะมีเกมพิเศษอีก 1 เกมเพื่อหาเป็นการตัดสินหาผู้ชนะ

 

ประโยชน์และข้อดีของกีฬาเคอร์ลิง

จากรายละเอียดของกติกาและวิธีการเล่นข้างต้นในแง่ของผู้เล่น เคอร์ลิง ก็คือกีฬาที่ต้องอาศัยการวางแผนอย่างรอบคอบ และผู้เล่นในทีมก็ต้องมีทักษะความสามารถตามหน้าที่ซึ่งเมื่อมารวมกันเป็นทีมแล้วก็ยังต้องอาศัยความรู้ใจกันเป็นอย่างดี จะเห็นได้ว่า ประโยชน์ของเคอร์ลิง จะเป็นเรื่องของการใช้ความคิดและพละกำลังไปพร้อมๆ กัน เช่น ผู้เล่นที่ต้องคอยทำหน้าที่ขัดถูน้ำแข็งซึ่งเป็นอุปสรรค์ของการไถลสโตน จะต้องมีกล้ามเนื้อแขน หลัง และลำตัวที่เหมาะกับกดอุปกรณ์ลงบนพื้นพร้อมทั้งถูพื้นน้ำแข็งเพื่อปรับเปลี่ยนทิศทางของสโตนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนักซึ่งมีข้อดีคือทำให้สรีระร่างกายและการเคลื่อนไหวมีความแข็งแรง รวมทั้งผู้เล่นทุกตำแหน่งด้วยเช่นกัน นอกจากนี้การเล่น เคอร์ลิง ก็ยังมีส่วนทำให้บุคลิกภาพดีขึ้นอย่างชัดเจนเพราะต้องเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ

curling2