กีฬาจักรยาน (Cycling) กีฬาของยอดนักปั่นกับความนิยมที่ไม่เสื่อมคลาย

กีฬาจักรยาน (Cycling) กีฬาของยอดนักปั่นกับความนิยมที่ไม่เสื่อมคลาย

กีฬาจักรยาน (Cycling) ก็คือกีฬาที่ต้องใช้การปั่นจักรยานด้วยความเร็วเพื่อไปสู่ชัยชนะ ซึ่งก็มีหลายประเภท หลายรูปแบบและมีหลายรายการแข่งขันมากมาย ความสนุกสนานตื่นเต้นก็แตกต่างไปคนละแบบ อีกทั้งยังเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รวมทั้งในไทยด้วย ในครั้งนี้ก็ได้นำเรื่องราวที่น่าสนใจของกีฬาชนิดมาฝากกันดังต่อไปนี้ 

 

james-moore

เจมส์ มัวร์ (James Moore) นักปั่นชาวอังกฤษ

 

ความเป็นมาและประวัติกีฬาจักรยาน

จุดเริ่มต้นความเป็นมาและประวัติกีฬาจักรยาน ตามหลักฐานที่บันทึกไว้ก็คือ ในปี ค.ศ.1834 เมืองรูออง ประเทศฝรั่งเศสได้มีการจัดการแข่งขันจักรยานเป็นครั้งแรก โดยแชมป์คนแรกก็คือ เจมส์ มัวร์ (James Moore) นักปั่นชาวอังกฤษ หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1900 ก็ได้มีการก่อตั้งสหพันธ์จักรยานนานาชาติ หรือ U.C.I. (Union Cycling International) อย่างเป็นทางการที่กรุงปารีส ซึ่งประเทศฝรั่งเศสก็เป็นประธานสหพันธ์ชาติแรก

ต่อมาในระหวางการแข่งขันโอลิมปิกครั้งที่ 18 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี ค.ศ 1964  คณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้ขอให้สหพันธ์จักรยานนานาชาติ แยกประเภทนักกีฬาจักรยานอาชีพกับนักกีฬาจักรยานสมัครเล่นออกจากกัน รวมทั้งให้การบริหารจัดการแยกกันอย่างเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีรายการแข่งขันจักรยานสมัครเล่นครั้งแรก ที่โอลิมปิกครั้งที่ 19 ปี ค.ศ 1968 ที่ประเทศเม็กซิโก แล้วก็ยังได้รับการบรรจุให้เป็นหนึ่งในชนิดกีฬาของการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ  1951 ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย นอกจากนี้ก็เริ่มมีรายการแข่งขันระดับประเทศรายการอื่นซึ่งเน้นกีฬาจักรยาน โดยเฉพาะมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น การแข่งขันกีฬาจักรยานทางไกล ตูร์เดอฟร็องส์ (Tour de France) และ จิโร เดอ อิตาเลีย (Giro d'Italia) 

สำหรับในประเทศไทย สมาคมกีฬาจักรยาน อย่างเป็นทางการของประเทศก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2502และก็มีนักกีฬาที่ได้เข้าร่วมแข่งขันในรายการระดับประเทศมาตลอด เช่น กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 5 ที่กรุงเทพมหานคร นักกีฬาจักรยานไทยสามารถสร้างผลงานคว้ามาได้ถึง 4 เหรียญทอง เป็นต้น ขณะที่รายการแข่งขันโดยใช้สนามในประเทศก็มีรายการที่มีชื่อเสียงและได้รับความสนใจจากนักปั่นหลายประเทศทั่วโลก เช่น การแข่งขันจักรยานทางไกลนานาชาติ ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ เป็นต้น

 

ประเภทการแข่งขันกีฬาจักรยาน กติกาและ ประโยชน์ที่ได้รับ

ประเภทของการแข่งขันกีฬาจักรยาน ภายใต้การควบคุมดูแลโดย สหพันธ์จักรยานนานาชาติ มีทั้งหมด 8 ประเภทหลักๆ  ได้แก่

road-cycling

1. จักรยานถนน (Road cycling)  ถ้าเป็นสนามอินดอร์จะแข่งขันในสนามวงรอบ แต่ถ้าเป็นสนามเอาท์ดอร์ก็จะเป็นการปั่นจักรยานแข่งกันบนถนนทางเรียบ เพื่อแข่งกันทำเวลาให้ดีที่สุดบนระยะทางเท่ากัน เช่น 40-50 กม.

 

Track-cycling

2. จักรยานลู่ (Track cycling) เป็นการแข่งขันแบบอินดอร์ในสนามเวลโลโดรมมีลู่จักรยานเป็นวงกลม มักจะทำด้วยไม้ นักแข่งจะต้องใช้ทักษะทางร่างกายในเรื่องความเร็วและความแข็งแกร่งอดทนอย่างสูง

 

Cyclo-cross-cycling

3. จักรยานไซโครครอส (Cyclo-cross) ส่วนใหญ่จะแข่งขันกันในประเทศทางซีกโลกเหนือและเมืองหนาว ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงจนถึงฤดูหนาว ต้องใช้จักรยานประเภทไซโครครอส ที่มีลักษณะคล้ายจักรยานเสือหมอบปั่นแข่งกัน

 

Mountain-bike

4. จักรยานเสือภูเขา (Mountain bike) เป็นประเภทการแข่งขันที่ค่อนข้างมีอิสระ เหมือนได้ปั่นจักรยานผจญภัยไปตามภูมิประเทศแบบต่างๆ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทย่อยๆ เช่น ครอสคันทรี(Cross-country) จะแข่งกันในสนามวงรอบ ผ่านสถานที่อย่างทุ่งโล่ง ป่าละเมาะ ป่าในสวนสาธารณะ ถนนลาดยางมะตอย เป็นต้น

 

5. จักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ (BMX or Bicross) หรือจักรยานวิบาก จะแข่งขันกันบนสนามที่ไม่ราบเรียบ และมีอุปสรรค สิ่งกีดขวางต่างๆ หลากหลายรูปแบบ ตลอดการแข่งขัน เช่น เนินเขา โขดหิน ทางโค้ง เหมาะกับนักปั่นที่ชอบความท้าทาย

 

Dirt-Jumping-Cycling

6. จักรยานผาดโผน (Dirt Jumping) คล้ายๆ กับจักรยานวิบากแต่จะเน้นการปั่นจักรยานบนสนามที่ทำจากดิน และมีการเล่นท่าผาดโผนกลางอากาศ

 

Artistic-cycling

7. จักรยานลีลา (Artistic cycling) ก็คือการใช้ศิลปะการทรงตัวมาผสมผสานการปั่นจักรยานให้เกิดเป็นท่าสวยงามคล้ายๆ เล่นยิมนาสติกหรือบัลเลต์พร้อมทั้งปั่นจักรยานไปด้วย มักจะแข่งขันแบบเป็นคู่ อีกทั้งยังมีเพลงประกอบขณะแข่งขัน

 

Para-cycling

8. การแข่งขันจักรยานสำหรับผู้พิการ (Para-cycling) เป็นการใช้มือปั่นจักรยานแทนขา ซึ่งจะมีจักรยานประเภทที่ทำขึ้นสำหรับผู้พิการโดยเฉพาะด้วย

ในส่วนของ กติกากีฬาจักรยาน ทั้ง 8 ประเภทข้างต้นที่ได้กล่าวถึง ก็จะมีกติกาเฉพาะของแต่ละประเภทแยกย่อยไปอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแข่งขันเป็นทีม ลักษณะบังคับของจักรยานที่ใช้ลงแข่งขัน ตัวอย่างเช่น จักรยานที่ใช้แข่งประเภทวิบาก ล้อจะต้องมีความกว้าง 20 นิ้ว รวมไปถึงเรื่องเกี่ยวกับเสื้อผ้า อุปกรณ์ต่างๆ ที่มีข้อบังคับระบุในกติกา อย่างไรก็ตามในภาพรวมของการแข่งขันจักรยาน สิ่งสำคัญก็คือ ต้องถึงเส้นชัยเร็วที่สุดในระยะเวลาน้อยที่สุดจึงจะเป็นผู้ชนะ ส่วนกติกาการให้อื่นๆ อย่างเรื่องของท่าผาดโผน ท่ายากอะไรต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับประเภทการแข่งขันนั้นๆ 

 สุดท้ายนี้ถ้าจะพูดถึง ประโยชน์ของกีฬาจักรยาน ถ้ามองในมุมของนักปั่นมือสมัครเล่น จักรยานถือว่าเป็นอุปกรณ์ออกกำลังกายที่มีหลายระดับราคา สามารถเริ่มต้นจากราคาที่ไม่สูงมากก็ได้ หากต้องการปั่นเพื่อความแข็งแรง และหากมองในมุมของนักกีฬาจักรยาน ที่ต้องการฝึกเพื่อพัฒนาตัวเองไปสู่ความเป็นมืออาชีพ ประโยชน์ที่เห็นชัดเจนคือการฝึกความอดทน จากการฝึกซ้อมแข่งขันรูปแบบต่างๆ ยิ่งเป็นประเภทที่ต้องใช้ทักษะสูง ก็ยิ่งต้องฝึกหนักหลายเท่า แต่ข้อดีก็คือ เมื่อก้าวไปสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพได้แล้ว โอกาส ชื่อเสียง รายได้ต่างๆ จากการแข่งขันก็จะตามมาด้วยเช่นกัน